อาชีพง่ายๆ ที่คนมองข้าม "รีแพ็กกิ้ง" ขนมไทย ขนมปี๊บ ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ

4 พ.ค. 2558
โดยเส้นทางเศรษฐี เมื่อ 20 ส.ค. 2551

รู้สึกสนุกกับการคิด แค่คิดแพ็กเกจจิ้งก็สนุกแล้ว ตอนแรกก็ต้องการแค่เทสต์ความคิดตัวเองเท่านั้น ว่า ถ้าเรานำหลักการตลาด 4P เข้ามาจับ มันจะเวิร์กมั้ย ปรากฏว่ามันเวิร์ก และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ที่ไม่น่ามองข้าม เพราะช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี รายได้จากการขายขนมช่วยได้มาก

หลายคนที่มีงานประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างในหน่วยงานราชการ ลูกจ้างในบริษัทเอกชน ฯลฯ จะมีคำถามอยู่ในใจว่า นอกจากงานประจำที่ทำอยู่แล้ว น่าจะทำอะไรได้อีกบ้าง ในช่วงที่ว่างจากงานประจำ เพื่อหารายได้เสริม

บางคนได้อาชีพเสริมจากความถนัดส่วนตัว เป็นต้นว่า ทำงานเป็นนักบัญชีอยู่แล้ว แต่มีฝีมือในการจัดดอกไม้ จึงรับจัดดอกไม้ในงานต่างๆ หรือมีงานประจำอยู่ในบริษัทแห่งหนึ่ง และชอบงานเสริมสวย จึงรับงานพิเศษ เสริมสวยแต่งหน้า พร้อมกับขายเครื่องสำอาง ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์

แต่สำหรับ คุณดวงพร สีเมฆ ผู้ประกอบการคนเก่ง ที่ "เส้นทางเศรษฐี" จะพาไปรู้จักคราวนี้ เธอได้อาชีพเสริมมาโดยบังเอิญ แต่มีพื้นฐานการมีความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองเป็นตัวสนับสนุน

คุณดวงพร เล่าว่า การทำขนมแบ่งขาย บรรจุเป็นแพ็กๆ นี้ เธอทำมาได้ประมาณ 4 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นจากการที่เธอไปช่วยเพื่อนทำธุรกิจขนมส่งออก

เพื่อนของเธอ เป็นผู้ประกอบการคล้ายๆ แม่ค้าคนกลาง โดยไปหาซื้อขนมอร่อยๆ เป็นขนมแห้งๆ ขนมไทยพื้นบ้าน จากนั้นนำมาบรรจุในหีบห่อสวยงาม และนำส่งขายต่างประเทศ และในขั้นตอนของการบรรจุหีบห่อนี้เองที่คุณดวงพรเข้าไปช่วย

"คือตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะทำทางด้านนี้เลย เพราะมีงานทำอยู่แล้ว แต่เพื่อนให้ไปช่วย เค้าทำงานส่งออกขนมไทย โดยซื้อขนมมารีแพ็กกิ้งส่งไปเมืองนอก เค้าเห็นว่า เป็นคนช่างคิดจุ๊กจิ๊กๆ ให้ไปออกแบบให้เค้า ช่วยแพ็กขนมด้วย เผอิญว่า ขนมผิงเหลือก็เลยให้เอาไปขายเล่นๆ ที่ตลาด"

ใช้หลักการตลาดง่ายๆ 4P มานำทางในการดำเนินงาน

หลังจากที่คุณดวงพรเอาขนมไปขาย คนซื้อกลับมาถามหาขนมนั้นอีก เพราะว่าขนมอร่อย และราคาไม่แพง ตรงนี้เองที่จุดประกายความคิดให้กับคุณดวงพร ว่า น่าจะขายขนม ซึ่งเป็นขนมที่ไม่ต้องทำเอง เพียงแต่รับมาทำการตลาดในลักษณะฝากขาย โดยเลือกของเจ้าที่อร่อยๆ เท่านั้น ซึ่งลงทุนไม่มาก และความเสี่ยงต่ำ

"พอคิดว่าจะขายขนม ก็คิด 4P ขึ้นมาเล่นๆ เริ่มต้นที่ P ตัวแรก Product สินค้า สินค้าเรามีแล้ว เรารู้แล้วว่าจะขายอะไร P ตัวที่สอง Place สถานที่ที่จะขาย มีขนมแล้วจะขายที่ไหนล่ะ คิดไว้ในเบื้องต้นว่า ไม่อยากทำอะไรที่มันยุ่งยาก ทำอะไรก็ได้ที่ใกล้ๆ บ้านไว้ก่อน ไม่เปลืองค่าน้ำมัน เพราะมันคือต้นทุน P ตัวที่ 3 Price ราคา จะขายเท่าไหร่ล่ะ ส่วน P ตัวที่ 4 ของคนอื่นอาจจะเป็น Promotion หรือการประชาสัมพันธ์ แต่ของตัวเอง เป็นเรื่องของการบรรจุหีบห่อ Packaging"

จะเห็นได้ว่าการคิดของคุณดวงพรค่อนข้างเป็นระบบมาก ซึ่งหากใครที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ และคิดได้อย่างเป็นระบบ จะคิดได้จบทั้งวงจร ซึ่งทำให้การทำงานง่ายขึ้น

สำหรับคุณดวงพรเอง ที่เธอว่า เธอมีสินค้าแล้ว นั่นคือพอมองออกแล้วว่า จะไปหาซื้อขนมได้ที่ไหน จุดที่เธอเล็งไว้คือ ที่อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตขนมมากมายหลายชนิด มีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางไปรับซื้อมาส่งยังตลาดใหญ่ๆ หลายจุดในกรุงเทพฯ ทั้งตลาดไท สี่มุมเมือง ปากคลองตลาด และคิดว่ายังมีอีกหลายตลาด เธอได้ติดต่อไปยังแหล่งผลิตที่จังหวัดสุโขทัย คือแหล่งเดียวกับที่เพื่อนของเธอรับมา และส่งออกต่างประเทศ เมื่อติดต่อไปแล้ว ได้รับคำตอบว่า

มีแม่ค้าคนกลางอยู่คนหนึ่ง จะมารับไปส่งที่ตลาดไท และปากคลองตลาด น่าจะผ่านในจุดที่คุณดวงพร อาศัยอยู่ในปัจจุบัน คือ ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเมื่อคุณดวงพรติดต่อไปที่แม่ค้าคนกลางนั้น ก็เป็นอันโชคดี เพราะแม่ค้าที่ว่านี้ มาพักโรงแรมใกล้ๆ กับบ้านคุณดวงพรทุกครั้งที่เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ

ขนมที่ได้เป็นขนมไทยๆ อาทิ ขนมผิง เผือกเส้นทอด ฟักทองกรอบ และกล้วยอบกรอบ แต่ลำพังขนมเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอ เพราะระหว่างที่เธอนำไปส่งตามร้านค้า มีเสียงเรียกร้องจากลูกค้า ส่งผ่านเจ้าของร้านมาอีกทีว่า น่าจะมีพวกขนมขาไก่ด้วย (ขาไก่ คือขนมปังชิ้นเล็กๆ ยาวๆ สีส้มๆ เหลือง รสชาติมันๆ เค็มๆ ส่วนใหญ่บรรจุอยู่ในปี๊บ เวลาซื้อ เจ้าของร้านจะนำจากปี๊บมาชั่งขายให้เป็นขีด และอีกลักษณะหนึ่งคือบรรจุในถุงพลาสติค ขายเป็นถุง ถุงละ 10-15 บาท ไม่แพงไปกว่านี้)

คุณดวงพร ว่า โดยส่วนตัวเธอเองแล้ว เธอไม่ชอบขนมปี๊บสักเท่าไหร่ แต่ทนกระแสเรียกร้องไม่ไหว เธอจึงต้องเพิ่มขนมปี๊บเข้ามา ซึ่งขนมปี๊บที่พูดถึงนี้ คือขนมที่บรรจุในปี๊บ ขายทั้งปี๊บ เช่น ขนมปัง ขนมขาไก่ สมัยก่อนถ้าจะซื้อ คนขายจะล้วงจากปี๊บมาชั่งขายเป็นขีดๆ แต่ปัจจุบันมักจะแบ่งขายอยู่ในถุงเรียบร้อยแล้ว ที่คุณดวงพรคิดก็คือ จะนำขนมปี๊บมาบรรจุในแพ็กเกจสวยงาม เช่นเดียวกับขนมไทยพื้นบ้านจากสุโขทัยที่รับมาก ว่าแต่ว่า ขนมปี๊บที่พูดถึงนี้จะไปซื้อได้ที่ไหน

ระหว่างทางที่ขับรถกลับบ้านในย่านสนามบินน้ำ คุณดวงพรส่งสายตาไปพบกับร้านขายส่งขนมปี๊บ เข้าโดยบังเอิญ ซึ่งที่จริงแล้ว อาจจะเป็นร้านที่ขายมานานแล้ว แต่ด้วยความที่ไม่สนใจ เธอจึงขับผ่านเลยไป ผ่านไป แต่มาถึงวันนี้ที่ต้องมองหา เลยสะดุดตาเข้าจนได้

เข้าไปในร้าน พบกับอาเฮียเจ้าของร้าน ซึ่งอาเฮียนี่ก็ดีใจหาย แนะนำให้ทุกอย่างว่าต้องซื้อของยี่ห้อๆ ยี่ห้อนี้อร่อย และไม่เฉพาะขาไก่เท่านั้น อาเฮียคนนี้ยังซื้อขนมจากสุโขทัยมาขายด้วย คุณดวงพรเลยเปลี่ยนมารับขนมจากอาเฮียร้านนี้เจ้าเดียว

เป็นอันว่า ผ่านในขั้นตอนของเรื่องสินค้า หรือ P ตัวแรก (Product) ไปได้

มีขนมมาฝากขายค่ะ ส่ง 8 ขาย 10 สนใจมั้ยคะ

P ตัวที่สอง หรือ Place อย่างที่เธอว่า เธอต้องการขายในจุดที่ใกล้ๆ บ้าน เป็นการไม่สิ้นเปลืองน้ำมัน เวลานำสินค้าไปส่ง

เธอใช้วิธีขับรถตระเวน และหมายตาเอาไว้ว่าจะส่งที่จุดใดบ้าง ทำแผนที่ไว้เลย ว่าจะส่งในจุดๆ นี้ ในย่านที่ไม่ไกลกันนัก จุดที่ไปส่งได้ในปัจจุบันมีอยู่ราวๆ 50 จุด แล้วเข้าไปติดต่อกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้า ได้อย่างไร

"จะเข้าไปประมาณว่า มีขนมมาฝากขายค่ะ สนใจมั้ยคะ? ฝากขายนะคะ เค้าก็จะบอกว่า ไหนมาดูซิ เราก็จะส่งขนมเป็นชุด (มีหลายๆ แบบ) ไปให้ดู และยิงต่อเลยว่า ฝากขายค่ะ ส่ง 8 ขาย 10 สองสัปดาห์มาทำตลาดทีหนึ่ง ง่ายๆ เลย แค่นี้จบ ทางเจ้าของร้านเค้าก็คงคิดว่า เค้าไม่ได้เสียหายอะไรนี่ ลองดูได้ แต่บางเจ้าไม่เปิดใจ ในขณะที่บางเจ้าบอกว่า ไหนลองเอามาดูซิ"

แน่นอนว่า เธอจะต้องพบกับพ่อค้าแม่ค้าหลากหลายรูปแบบ หลากหลายอารมณ์ บ้างพูดดี บ้างพูดไม่ดี แต่ด้วยความตั้งมั่นในโจทย์ที่ตั้งไว้คือ การนำของเข้าไปฝากขาย ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะต้องมองให้ผ่านเลยไป เพราะเลือกมองเฉพาะแต่สิ่งที่ดีๆ

ร้านที่เลือกเข้าไปส่ง จะเป็นร้านมินิมาร์ท หรือร้านสะดวกซื้อเล็กๆ ไม่ได้เลือกร้านสะดวกซื้อใหญ่ การนำสินค้าเข้าไปวางในร้านสะดวกซื้อใหญ่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งขนมที่ขายก็เป็นขนมพื้นๆ ราคาไม่แพง ที่คนชอบซื้อกิน

แต่แม้จะมีกลุ่มเป็นร้านค้าขนาดไม่ใหญ่นัก หากควรเป็นร้านที่มีการจัดการวางสินค้าที่ดี อาทิ ร้านมินิมาร์ทในหอพักนักศึกษา หรือร้านกึ่งมินิมาร์ทที่ค่อนข้างมีรูปแบบ มิใช่ร้านโชห่วยที่ขายกะปิ น้ำปลา เป็นหลัก ถ้าเป็นร้านประเภทหลังนี้ ขนมที่วางขายจะมีราคาถูกลงไปอีก เช่น ขนมแซนด์วิช ชิ้นละ 5 บาท เป็นต้น

"ถ้าเป็นร้านโชห่วยแบบเก่า เค้าจะขายขนมชิ้นละ 5 บาท อย่างนั้นเราไม่เข้า เพราะถึงอย่างไร ขนมของเราก็ไม่ใช่รายได้หลักของเค้า แต่ร้านที่เลือกเข้าไป จะจัดวางสินค้าเป็นระเบียบนิดหนึ่ง ขายเหล้า บุหรี่ มีตู้ขายเครื่องดื่ม จัดอย่างดี มีขนมเป็นถุงๆ ให้ลูกค้าได้หยิบเอง"

ได้จุดขายถึง 50 จุดในละแวกบ้านที่ไม่ไกลกันนัก นับว่าหาที่วางสินค้าได้เก่งมากทีเดียว

"คือต้องคำนวณต้นทุนในเรื่องค่าน้ำมัน ขับไปรอบหนึ่งเอาให้ได้หลายๆ จุด ตอนนี้ส่งอยู่ 2 โซน ที่ถนนติวานนท์ สนามบินน้ำ และโซน 2 แถวๆ ตัวจังหวัดนนทบุรี ใช้ค่าน้ำมันในการส่ง 150-200 บาท ต่อวัน บางครั้งขับไป 50 เมตร จอดส่ง คือใกล้ๆ กัน"

การส่งสินค้า ถ้าส่งได้ถูกกลุ่มเป้าหมาย จะทำให้สินค้าขายได้ดีขึ้น ที่ว่าถูกกลุ่มเป้าหมาย คือต้องสังเกตว่า ลูกค้ากลุ่มใดชอบขนมประเภทใด เพราะแม้จะมองว่าเป็นขนมอยู่ในแพ็กเหมือนๆ กัน แต่ขนมข้างในไม่เหมือนกัน อย่างที่เธอเล่าว่า ถ้าเป็นร้านค้าในย่านที่มีนักศึกษาอยู่มากๆ ขาไก่ ขนมเด็กๆ จะขายดี หากเป็นในแหล่งสถานที่ราชการ ควรเป็นขนมไทย อย่างขนมผิง กล้วยอบ ฟักทอง เพราะมีกลุ่มคนมีอายุมากขึ้นมาอีกนิด

"บางครั้ง เจ้าของร้านเค้าจะแนะนำเราด้วย อย่างในหอพักนักศึกษาที่มีประมาณ 100 ห้อง เราอยากจะลงไปสัก 20 ห่อ เพื่อต้องการเทสต์ตลาด ทำตัวเลขคร่าวๆ ก่อน อีกทั้งหากวางสินค้าได้เยอะๆ สินค้าจะดูดี และเด่นขึ้นมา แต่เจ้าของร้านบอกว่า ลงแค่ 14-15 ห่อก็พอ เชื่อเจ๊ พอถึงเวลาไปเก็บเงินและเอาของใหม่ไปลง ปรากฏว่าของหมดจริงๆ และในครั้งต่อๆ มาก็หมดทุกครั้ง แสดงว่า เจ๊มืออาชีพ ขายมานานรู้ความต้องการของลูกค้าจริงๆ"

ไม่เคยจัดชั้นวางเลย อย่าหวังเรื่องยอดขาย

คุณดวงพร ว่า จากการที่ขายขนมประเภทนี้มานานถึง 4 ปี มักจะได้คำถามจากคนรอบข้างเสมอว่า งานนี้มีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง ตอบได้เลยว่า อุปสรรคคือ ข้อแรก เจ้าของร้านไม่เปิดใจ และข้อสอง เจ้าของร้านไม่ยอมจัดชั้นวางสินค้า

"มีร้านค้าประเภทหนึ่ง เค้าไม่จัดชั้นวางสินค้าเลย พอเราเอาสินค้าเข้าไปวาง ก็จะมีเจ้าอื่นมาวางทับๆ กันไป เจ้าของร้านไม่จัดการ ไปบอกเค้าเรื่องสินค้าทับซ้อน เค้าบอกว่า ผมไม่จัดการ วางกันเองละกัน ร้านนี้ตัวเองอดทนอยู่พักหนึ่งนะ ในที่สุดก็เลิกอดทน ไม่ไปส่งแล้ว ถึงส่งสินค้าไปก็ขายไม่ค่อยได้ เพราะลูกค้ามองไม่เห็นสินค้า แต่ในขณะที่บางร้านดีแสนดี คอยจัด คอยเช็ค สวยงาม ตลอดเวลา ซึ่งมีผลต่อยอดขายอยู่แล้ว มีเจ้าของร้านอีกแบบที่พบมาคือ หน้าบึ้งตลอดเลย เวลาเข้าไปเก็บเงินเค้าให้ลูกน้องมา มาเช็คสินค้ากับเรา พอถึงเวลาทอนเงิน เจ๊แกจะล้งเล้งโช้งเบ๊งเลยล่ะ เราก็ขำ นึกภาพตัวเองเหมือนตอนอยู่ในห้องเรียน นึกถึงการไปส่งสินค้าเหมือนไปโรงเรียน ไม่รู้เจ๊แกจะวีนแตกเมื่อไหร่ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ทำบิลหายไม่กล้าไปหาแกเลย สรุปว่า ทิ้งเจ้านี้ไปอีกเหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องมาทนกับอะไรแบบนี้ และเรายังมีคนดีๆ ให้คบตั้งมากมาย" คุณดวงพร เล่าให้ฟัง และต่ออีกว่า

"บางคนก็แปลกนะ จะบอกเลยว่า พี่ไม่เอานั่น พี่ไม่เอานี่ ขนมปี๊บพี่ไม่เอา ไปๆ มาๆ ไปรับของคนอื่นมาขาย เรายังว่า เอ้าพี่ไม่รับสินค้าหนู ทั้งที่หนูเอามาเสนอตั้งแต่ต้น แล้วพี่ไปรับของคนอื่นมาขาย คือเค้าจะเป็นคนที่ตีกรอบความคิดของคนกิน คิดแทนคนกินว่า จะชอบหรือไม่ชอบอะไร ซึ่งบางครั้งทำให้เสียโอกาส"

เหล่านี้ คือการพูดถึงจุดที่วางสินค้าที่จะขาย ซึ่งมิใช่เพียงตัวสถานที่ที่จะวางสินค้า หากยังเกี่ยวข้องกับเจ้าของสถานที่นั้นๆ ด้วย และนี่ก็คือชีวิตจริงของผู้ประกอบการที่ต้องพบกับเรื่องจริง มิใช่เพียงตัวทฤษฎีที่ร่ำเรียนกันมา หากแต่ทฤษฎีเหล่านี้นำมาเป็นหลักการพื้นฐาน เพื่อให้การคิดและการทำงานเป็นไปอย่างมีระบบนั่นเอง

มาถึง P ตัวที่ 3 คือ Price หรือราคา อย่างที่เธอเล่า เมื่อมีสินค้าแล้วพอมองจุดที่จะวางขายได้แล้ว การกำหนดราคาต้องตามมาทันที จากการที่เธอไปสำรวจตลาดว่า ราคาจะอยู่ในจุดใดจึงจะเหมาะสม ก็พบว่า ราคา 10 บาท เป็นราคาที่เหมาะที่สุด และขายส่งในราคา 8 บาท เจ้าของร้านได้กำไร 2 บาท

ส่วนกำไรของเธอนั้น เธอว่า ต้องได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงจะคุ้ม นั้นคือ ขาย 8 บาท ราคาต้นทุนเบ็ดเสร็จต้องอยู่ที่ 4 บาท ต้นทุนที่ว่า ตั้งแต่ตัวขนม แพ็กเกจ ค่าน้ำมันรถ

ส่วน P ตัวที่ 4 Package หรือบรรจุภัณฑ์ นั่นเอง คุณดวงพร ว่า เธอสนุกกับการคิดบรรจุภัณฑ์ เพราะทำให้เธอได้เพลิดเพลินไปกับการทำงาน ธรรมดาขนมลักษณะนี้มักจะอยู่ในถุงพลาสติค ขายกันตามตลาดนัด แต่เธอนำมาแต่งตัวใหม่ อยู่ในถุงพลาสติคใส มีฐาน และปิดปากถุงด้วยกระดาษห่อของขวัญ

ขนมที่ขายมีทั้งสิ้น 13 ชนิด กระดาษที่นำมาใช้มี 13 ลวดลาย แต่ละลวดลายถูกจัดให้เข้ากับขนมแต่ละชนิดอย่างตั้งใจ เธอว่า แม้ลูกค้าบางคนไม่ทันได้สังเกต แต่นับเป็นความสุขของเธอที่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และคิดสวยงาม

"ลูกค้าบางคนที่มีความละเอียดอ่อน จะทราบนะคะว่า เราตั้งใจเลือกลายของกระดาษให้เข้ากับขนมที่เราขาย และตัวเองมักจะคิดเสมอว่า ถ้าแพ็กอย่างนี้เวลาขึ้นไปอยู่บนชั้นวางสินค้า มันจะเด่นขึ้นมามั้ย ซึ่งจุดประสงค์คือต้องการให้มันเด่นออกมาจากสินค้าขนมอื่นๆ" และนี่เป็นเรื่องราวของบรรจุภัณฑ์ที่เธอให้ความสำคัญ

บนห่อบรรจุภัณฑ์มีโลโก้ที่เธอสร้างสรรค์เอง อย่างง่ายๆ ไม่ต้องจ้างนักออกแบบ

"มีอยู่วันหนึ่ง ไปที่ออฟฟิศของเพื่อนรุ่นน้อง ไปนั่งเล่นคอมพ์ หาโลโก้ขนมของตัวเอง บังเอิญว่า เคยไปดูฮวงจุ้ยมาว่า ตัวเองธาตุอะไร และน่าจะทำอะไรที่มันกลมๆ และมีสีขาวๆ นวลๆ เลยคิดว่าโลโก้น่าจะเป็นวงรี มีชื่อยี่ห้อ ก็เอาชื่อเราเอง ใส่เบอร์โทรศัพท์เราเองละกัน ง่ายๆ ดี ดูในจอคอมพิวเตอร์มีสัญลักษณ์ให้เลือก มีถุงขนม มีถ้วยกาแฟ มาใส่หน่อย คือต้องการให้เอาขนมไปกินกับกาแฟ แต่เราไปวางตำแหน่งสินค้าขนาดนั้นไม่ได้ เพราะขนมที่จะเข้าร้านกาแฟ จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่พอได้อย่างนี้ ก็เอาแบบนี้เลย ไปให้น้องจัดอาร์ตเวิร์กให้"

เริ่มจากเล็กๆ ลงทุนน้อย ไม่ซับซ้อน ความเสี่ยงต่ำ

สำหรับตารางการทำงานของคุณดวงพรจะคล้ายๆ กัน ทุก 2 สัปดาห์ นั่นคือ ไปซื้อขนมวันพฤหัสฯ แพ็กขนมวันเสาร์ และอาทิตย์ นำไปส่งวันจันทร์และอังคาร แต่ละครั้งของการส่ง เธอว่า มียอดการส่งอยู่ที่ราวๆ 700-800 ห่อ โดยแต่ละร้านมียอดการซื้อ ตั้งแต่ต่ำสุด ถึงสูงสุดคือ 12-60 ห่อ ร้านที่มียอดการซื้อสูงสุดอยู่ในหอพักนักศึกษา

บางครั้งตารางการทำงานอาจจะต้องเลื่อนไป เพราะเธอติดงานอื่น

งานอื่นที่ว่านี้คือ งานหลักของเธอ ก่อนที่จะเข้ามาจับอาชีพส่งขนมแบ่งขายบรรจุเป็นแพ็กๆ

คุณดวงพร จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาเอกโทรทัศน์ วิชาโทการโฆษณา ดังนั้น งานที่เธอทำเป็นหลักคือ การทำรายการโทรทัศน์ การเขียนบทโทรทัศน์ การตัดต่อภาพ การจัดงานนำเสนอสินค้า ฯลฯ เธอทำงานหลักนี้กับบริษัทของน้องชาย จึงไม่มีเงินเดือนประจำ เพราะหากคิดเป็นเงินเดือนประจำ ด้วยประสบการณ์การทำงาน ฐานเงินเดือนจะสูงกว่าคนอื่นๆ ดังนั้น เธอจึงคิดราคางาน เป็นงานๆ ไป ซึ่งปกติเธอต้องเข้าไปอยู่ในห้องตัดต่อ หรือเข้าประชุมกับทีมงานเสมอๆ ถึงกระนั้นพอมีเวลาว่างที่เธอจะหันมาจับอาชีพเสริมดังที่เล่ามานี้

ถามตรงๆ เลยว่า เรียนจบมาขนาดนี้ มาทำงาน กึ่ง แม่ค้าเช่นนี้ เธอมีความรู้สึกอย่างไร

"ไม่รู้สึกนะ รู้สึกสนุกกับการคิด แค่คิดแพ็กเกจจิ้งก็สนุกแล้ว ตอนแรกก็ต้องการแค่เทสต์ความคิดตัวเองเท่านั้น ว่าถ้าเรานำหลักการตลาด 4P เข้ามาจับ มันจะเวิร์กมั้ย ปรากฏว่ามันเวิร์ก และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ที่ไม่น่ามองข้าม เพราะช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี รายได้จากการขายขนมช่วยได้มาก อย่างช่วงที่ต้องการใช้เงิน พอคิดไปว่า อีก 2 วันจะไปเก็บเงินจากร้านค้า แค่นี้ก็รู้แล้วว่า เราจะได้เงินจากไหน" คุณดวงพร ว่าอย่างนั้น

นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคนที่ไม่หยุดนิ่งกับที่ พยายามขวนขวายให้ได้มาซึ่งอาชีพเสริมและรายได้เสริม โดยเริ่มต้นจากเล็กๆ ลงทุนไม่มาก ขั้นตอนการทำงานไม่ซับซ้อน แถมยังได้สนุกกับงาน

ใครที่มีงานประจำอยู่แล้ว หากมีคำถามเกิดขึ้นกับตัวเองว่า น่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเพิ่มรายได้ น่าจะสนใจคำแนะนำข้างต้นที่ว่า "เริ่มจากเล็กๆ ลงทุนไม่มาก และขั้นตอนการทำงานไม่ซับซ้อน" เพราะเหล่านี้ คือความเสี่ยงต่ำ และง่ายต่อการจัดการ ซึ่งหากทำได้ชำนาญและเรียนรู้ได้ทั้งระบบแล้วโอกาสที่จะขยายต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ขอเพียงอย่าใจร้อน และท้อถอยกับอุปสรรคง่ายๆ เพราะความตั้งใจ ความพยายามเท่านั้น ที่จะทำให้พบกับเส้นทางนี้ อย่างแท้จริง

สนใจติดต่อ คุณดวงพร ได้ที่ 69/234 ติวานนท์ 27 ถนนติวานนท์ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี โทร. (02) 588-2350

หลักการตลาด 4P

ง่ายๆ แต่ได้ผล สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงจุดใด มาเริ่มจาก 4P ก่อน จะทำให้การคิดเป็นระบบมากขึ้น

4P คืออะไร

4P คือหลักการตลาดพื้นฐาน ที่ไม่ยากและไม่ซับซ้อน

นั่นคือว่า ไม่ว่าจะทำกิจการใดก็ตาม ไม่ว่าเล็ก หรือใหญ่ ต้องตอบคำถามและวิเคราะห์จาก 4P นี้ก่อนเสมอ

P ตัวแรก Product หรือสินค้า นั่นคือ จะขายสินค้าหรือบริการอะไร


P ตัวที่สอง Place จะขายสินค้าหรือบริการนั้น ที่ไหน


P ตัวที่สาม Price จะขายสินค้าหรือบริการนั้น ราคาเท่าไหร่


P ตัวที่สี่ Promotion มีแผนการประชาสัมพันธ์ หรือการโฆษณา อย่างไร


P ตัวที่ห้า เป็นตัวแถม packaging จะมีบรรจุภัณฑ์นั้นอย่างไร

การคิด ถึงตัว P ทั้ง 4 หรือ 5 ตัวนี้ ต้องคิดไปพร้อมๆ กันทั้งระบบ ไม่คิดแยกจากกัน เช่น ถ้าเป็นสินค้าประเภทนี้ มีกลุ่มเป้าหมายลูกค้ากลุ่มใด ดังนั้นจึงโยงไปหาทำเลที่ตั้ง หรือจุดที่จะวางสินค้าขาย รวมทั้งโยงไปถึงราคาสินค้าด้วย

แต่หากหยิบตัว P ตัวใดขึ้นมาก่อน ก็โยงไปหาตัว P ตัวอื่นๆ ได้เช่นกัน เช่น ถ้ามีทำเลที่ตั้ง หรือมีสถานที่ที่จะขาย เป็นหลักอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียค่าเช่า จากนั้นจึงมาวิเคราะห์ว่า ทำเลเช่นนี้ มีกลุ่มลูกค้าใดอยู่มาก และควรจะขายสินค้าใด เมื่อได้ตัวสินค้า ได้กลุ่มเป้าหมาย ก็จะโยงไปสู่ราคา และการทำการประชาสัมพันธ์ หรือการคิดบรรจุหีบห่อ เป็นต้น
การนำ 4P มาช่วยในการคิด จะทำให้การคิดเป็นระบบ และไม่สับสน อีกทั้งยังช่วยอุดช่องว่างของปัญหาทางการตลาดที่จะตามมา เช่น หากคิดแต่ตัวสินค้า ว่าสินค้าตัวนี้ทำออกมาอย่างดีเลิศ แต่ไม่เหมาะกับทำเลที่ขาย และกลุ่มลูกค้า รวมทั้งการตั้งราคาไม่เหมาะกับทำเล ไม่เหมาะกับสินค้า ไม่เหมาะกับกลุ่มลูกค้า เหล่านี้อาจจะทำให้ถึงทางตันได้

นี่เป็นหลักคิดง่ายๆ นำไปใช้ได้กับทุกธุรกิจ

ลงทุนน้อย ความเสี่ยงต่ำ
คุณดวงพร สีเมฆ 

จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาเอกโทรทัศน์ วิชาโทการโฆษณา 

ทำงานทางด้านรายการโทรทัศน์เป็นงานหลัก ใช้เวลาว่างจากงานประจำทำอาชีพเสริม ซื้อขนมไทย อาทิ เผือกเส้นทอด กล้วยอบกรอบ ฟักทองทอด ขนมผิง และบรรดาขนมปี๊บ เช่น ขาไก่, เวเฟอร์, พอง พอง ช็อค, ข้าวโพดพอง, ขนมปังกรอบ นำมาใส่ในบรรจุภัณฑ์ใหม่ ส่งขายตามร้านค้าทั่วไป ในลักษณะฝากขาย ส่ง 8 บาท ขาย 10 บาท ให้พ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อได้กำไร 2 บาท ต่อห่อ โดยเก็บเงิน และนำสินค้าใหม่ไปวางให้ 2 สัปดาห์ ต่อครั้ง ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ไม่ซับซ้อน ลงทุนต่ำ และความเสี่ยงน้อย

จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 4 ปีที่เธอทำอาชีพเสริมนี้มา มีจุดส่งสินค้า 50 จุด กระจายในย่านสนามบินน้ำ ถนนติวานนท์ และจังหวัดนนทบุรี มียอดการส่งราวๆ 700-800 ห่อ ต่อการส่ง กำไร 100 เปอร์เซ็นต์
ผู้ประกอบการรายนี้ ใช้หลักการ 4P เป็นตัวเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ ซึ่งน่าสนใจว่า หลักการนี้ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีระบบได้อย่างไร และเป็นหลักการที่ใครๆ ก็นำไปใช้ได้ ในทุกรูปแบบ ทุกขนาดของธุรกิจ

และนี่คือตัวอย่างของการนำหลักวิชาการมาผสมผสานเข้ากับระบบธุรกิจอย่างง่ายๆ แต่ได้ผล

3 ความคิดเห็น:

  1. ร้านขายส่งขนมที่ว่าอาเฮียนั้นอยู่ที่ไหนคะ ขอที่อยู่หรือเบอร์ติดต่อได้มั้ยคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณช่องทางและคำแนะนำดีๆจากคุณดวงพรค่ะ

      ลบ
  2. อยากทราบร้านขายขนมปังปี๊บอาเฮียหน่อยค่ะ

    ตอบลบ